ใบความรู้ที่ 1
เรื่องปัญหาหรือความต้องการในชีวิตประจำวัน
1. ปัญหามีความหมายว่าอย่างไร
ปัญหา หมายถึง ประเด็นที่เป็นอุปสรรค ความยากลำบาก ความต้านทาน หรือความท้าทาย หรือเป็นสถานการณ์ใด ๆ
ที่ต้องการแก้ปัญหา ซึ่งการแก้ปัญหาจะรับรู้ได้จากผลลัพธ์ของการแก้ปัญหาหรือผลงานที่นำไปสู่วัตถุประสงค์หรือเป้าหมาย
ประเด็นปัญหาแสดงถึงทางออกที่ต้องการ ควบคู่กับความบกพร่อง ข้อสงสัย หรือความไม่สอดคล้องที่ปรากฏขึ้น
ซึ่งขัดขวางมิให้ผลลัพธ์ประสบผลสำเร็จ
ปัญหาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อบุคคลมีเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งที่มุ่งไปสู่ แต่ไม่ทราบว่าจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้อย่างไร
หากบุคคลนั้นสามารถทราบได้อย่างชัดเจนว่าต้องการทำอย่างไรบ้างจึงจะไปสู่สถานการณ์ที่ต้องการได้ ถือว่าบุคคลนั้นไม่ได้เกิดปัญหาอย่างแท้จริง
สรุปได้ว่า ปัญหา คือ เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่บุคคลจะต้องเผชิญและแก้ไข ซึ่งต้องใช้วิธีการต่างๆ อย่างเหมาะสม
รวมไปถึงความรู้หรือประสบการณ์เดิมของแต่ละบุคคลในการคิดหาคำตอบด้วย
2. ประเภทของปัญหา
ประเภทของปัญหาสามารถจำแนกได้ตามลักษณะใหญ่ ๆ อยู่ 2 ประเภท คือ จำแนกตามลักษณะการแก้ไขปัญหาโดยทั่วไป และลักษณะการแก้ไขปัญหาเฉพาะกิจ ซึ่งลักษณะการแก้ไขปัญหาทั่วไป จะมีทั้งปัญหาที่สามารถจัดการแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน และปัญหาที่มีความซับซ้อน คลุมเครือไม่ชัดเจน ส่วนลักษณะการแก้ปัญหาเฉพาะกิจ มีลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปตามโอกาส
3. ความต้องการ
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์ (Maslow's Hierarchy of Needs) คือ แนวคิดทางจิตวิทยาที่เสนอว่า มนุษย์จะถูกกระตุ้นให้เติมเต็มความต้องการขั้นพื้นฐานในลำดับต้นก่อนที่จะมีพัฒนาความต้องการออกไปจากด้านล่างสู่ด้านบน ซึ่งคือความต้องการด้านต่าง ๆ ดังนี้
ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมาสโลว์มักจะถูกแสดงด้วยรูปภาพพีระมิด ซึ่งสิ่งที่อยู่ล่างสุดคือความต้องการขั้นพื้นฐานมากที่สุด และลำดับที่สูงขึ้นจะเป็นความต้องการที่มีความซับซ้อนขั้นจนถึงยอดของพีระมิด ความต้องการ ที่อยู่ด้านล่างจะต้องถูกเติมเต็มก่อนที่มนุษย์จะมีความสนใจ ความต้องการ ในขั้นถัดไป
ความต้องการด้านกายภาพ (Physiological Needs)
เป็นความต้องการขั้นพื้นฐานของมนุษย์เพื่อที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ เช่น
อาหาร
น้ำ
อากาศ
การนอนหลับ
นอกจากนี้ยังรวมไปถึงสิ่งพื้นฐานอื่น ๆ เช่น ที่พักหลบภัย เครื่องนุ่มห่ม สารอาหารที่เหมาะสมและมาสโลว์ยังรวมการสืบพันธุ์ด้วย เพราะการสืบพันธ์เป็นการเอาชีวิตรอดของเผ่าพันธุ์
ความต้องการด้านความมั่นคง ปลอดภัย (Safety and Security Needs)
ความต้องการในลำดับนี้จะมีความซับซ้อนมากขึ้น มนุษย์อยากจะควบคุมและดูแลสิ่งต่างๆ ในชีวิต ดังนั้นความปลอดภัยและความมั่นคงจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ โดยตัวอย่างของความต้องการด้านนี้คือ
· ความมั่นคงทางการเงิน
· ความปลอดภัยของสุขภาพ
· ความปลอดภัยจากอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ
· ความปลอดภัยทางอารมณ์ เช่น การไม่เศร้าเสียใจ ไม่ร้อนใจ วิตกกังวล หรือสภาวะที่เป็นลบ
· ความมั่นคงทางในการมีชีวิตที่ดี
เพราะเราต้องการคาดเดาว่าอะไรจะเกิดขึ้นอย่างที่มันเป็นไป เราไม่ชอบความเสี่ยงที่ดูแล้วเป็นไปได้ไม่ดี
ความต้องการด้านความรัก หรือการเป็นเจ้าของ (Love/Sense of Belongings)
มีความสัมพันธ์ที่ดี ได้รับความรัก หรือรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ความต้องการนี้เป็นความต้องการที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งเป็นความต้องการทางด้านสังคม (Social Needs) โดยที่สภาวะอารมณ์ ความสัมพันธ์เหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมต่าง ๆ ตามมา
· เพื่อน
· ความรักในเชิงโรแมนติก
· ครอบครัว
· ความเป็นกลุ่ม
· ความเชื่อใจและความสนิท
ความต้องการในขั้นนี้ยังรวมไปถึง การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มต่าง ๆ เช่น เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว กลุ่มทางศาสนา ด้วยเช่นกัน
ความต้องการด้านความเคารพ (Esteem Needs)
ความต้องการด้านความเคารพเกิดขึ้นเมื่อความต้องการด้านอื่น ๆ ได้รับการตอบสนองแล้ว ในระดับนี้เราจะต้องการความเคารพนับถือจากคนอื่น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น
· ความต้องการที่จะเป็นใครสักคน หรือมีความภูมิใจ เกิดความความเชี่ยวชาญในทักษะต่าง ๆ
· ความต้องการที่จะได้รับการเคารพจากคนอื่น เช่น การมีชื่อเสียง ศักดิ์ศรี
ความต้องการด้านนี้ยังรวมไปถึงสิ่งต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกมีคุณค่า หรือ self-esteem เช่นกัน คนที่สามารถตอบสนองความต้องการด้านความเคารพจะมีความรู้สึกมั่นใจในความสามารถของตนเอง ในขณะที่คนที่ขาด self-esteem และการเคารพจากคนอื่น ๆ อาจทำให้เกิดความรู้สึกด้อยค่ากว่าคนอื่น ซึ่งมาสโลว์กล่าวว่าความต้องการการยอมรับนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในเด็กและวัยรุ่น
การบรรลุความหมาย หรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization)
เป็นสิ่งที่อยู่สูงสุดในระดับของความต้องการตามทฤษฎีของมาสโลว์ ซึ่งมันหมายถึงการตระหนักในความสามารถของคนๆ หนึ่ง ความต้องการที่จะเป็นในสิ่งที่คนๆ หนึ่งสามารถเป็นได้ เป็นสิ่งที่มีความเฉพาะเจาะจงเช่น คนๆ หนึ่งถูกเติมเต็มจากตัวเองในการทำบางอย่างให้ดีที่สุด เป็นการบรรลุศักยภาพของตัวเอง และพัฒนาตัวเองเช่น
· บางคนอาจต้องการเป็นพ่อแม่ในอุดมคติ
· บางคนอาจต้องการมีความเป็นเลิศด้านกีฬา
· บางคนอาจต้องการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ วาดภาพ อย่างเต็มศักยภาพ
ความต้องการทั้ง 5 นี้สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม
· Deficiency needs (D-needs) คือ ความต้องการสี่อันแรกคือ ความต้องการด้านกายภาพ, ความปลอดภัย/ความมั่นคง, ความรัก/การเป็นเจ้าของ และความเคารพ
· Being needs or growth needs (B-needs) คือความต้องการด้านการบรรลุความหมายภายใน หรือความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-actualization)
ตัวอย่างของปัญหาหรือความต้องการในชีวิตประจำวันของมนุษย์
ประเภทของปัญหาในชีวิตประจำวันของมนุษย์ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต เช่น
1. อาหาร เช่น ปลูกพืชแล้วถูกแมลงรบกวน
2. ที่อยู่อาศัย เช่น วัสดุในการสร้างที่อยู่อาศัยผุพังเร็ว
3. เครื่องนุ่งห่ม เช่น ผ้าไม่ระบายความร้อน ทำความสะอาดยาก
4. ยารักษาโรค เช่น เก็บได้ไม่นานมีผลข้างเคียง
ปัญหาที่เกิดจากปัจจัยการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
1. ทำเลที่ตั้งและชุมชน เช่น พื้นที่เพาะปลูกอยู่ไกลจากแหล่งน้ำ
2. พื้นที่ทางเศรษฐกิจ เช่น ความต้องการของตลาด ผลผลิตที่ได้
3. วัฒนธรรมและการเมือง เช่น กฎหมายไม่เสมอภาค